Tuesday, December 3, 2024

โซล่าเซลล์ คืออะไร? ฉบับคนไม่รู้อะไรเลย

Share

โซล่าเซลล์ คือ การนำแสงอาทิตย์มาแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้า โดยไฟฟ้าที่ได้จากพลังงานแสงอาทิตย์จะเป็นไฟกระแสตรงเหมือนไฟจากแบตเตอรี่รถยนต์ สามารถนำมาใช้กับไฟฟ้าในบ้านได้โดยการแปลงเป็นกระแสสลับเสียก่อน

ทำไมต้องเป็นโซล่าเซลล์

เพราะว่าโซล่าเซลล์เป็นเทคโนโลยีที่มีคุณประโยชน์มากมายจริง ๆ เป็นพลังงานจากธรรมชาติ (แสงอาทิตย์) ไม่มีวันหมด ใช้ให้ตาย เปลืองแค่ไหนก็ยังใช้ได้ไปอีกหลายร้อยล้านปี เป็นพลังงานสะอาดไม่ก่อมลภาวะแก่โลก และที่เริดอลังการที่สุดก็คือ “เราสามารถขายไฟคืนให้กับการไฟฟ้าได้ด้วย” กลายเป็นรายได้เสริมแบบ Passive Income เข้าไปอีก

การทำงานของโซล่าเซลล์

โซล่าเซลล์ฉบับเริ่มต้น

ขั้นตอนการทำงานของโซล่าเซลล์ก็คือ มีแผงสำหรับรับแสงอาทิตย์ แปลงรังสียูวีที่อยู่ในแสงอาทิตย์เป็นพลังงาน แล้วส่งต่อไปยังเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยแผงโซล่าเซลล์ทำมาจาก ดิน หิน ทราย โดยการนำไปสกัดคัดแยกเอาธาตุซิลิกอนออกมาใช้งาน ผลิตเป็นแผงโซล่าเซลล์ที่เราเห็นใช้งานกัน สามารถนำหลาย ๆ แผงมาต่อกันเพื่อให้ได้กระแสไฟและแรงดันที่เพิ่มขึ้นเพียงพอต่อการใช้งานตั้งแต่ขนาดเล็กตามบ้านทั่ว ๆ ไป ไปจนถึงโรงงานขนาดใหญ่ได้

ประเภทของแผ่นโซล่าเซลล์ (Solar Panel)

Monocrystalline (โมโน)

โซล่าเซลล์ฉบับเริ่มต้น

แผงโซล่าเซลล์แบบโมโน จะเป็นแผ่นที่เห็นได้เยอะสุดที่ประเทศไทย เพราะตามสเป๊คนั้นสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากกว่าชนิดอื่น และราคาก็ถูกลงจนเท่ากับแบบโพลีหรือบางยี่ห้อก็ขายถูกกว่าซะด้วยซ้ำ แผงโซล่าเซลล์แบบโมโนนี้จะนำซิลิกอนที่ได้จากการสกัดในตอนแรก มากวนจนเป็นแท่งทรงกระบอกแล้วตัดให้เป็นสี่เหลี่ยม จากนั้นก็ลบมุมออกทั้ง 4 ด้าน พอเอามาต่อกันจะเห็นเป็นจุดต่อกันระหว่างแผ่น ข้อด้อยของแผ่นโซล่าเซลล์ประเภทนี้คือ ประสิทธิภาพจะลดลงเมื่ออุณหภูมิสูง

Polycrystalline (โพลี)

โซล่าเซลล์ฉบับเริ่มต้น

แผงแบบโพลี คุณภาพเกือบเทียบเท่ากับโมโนผลิตมาจากซิลิกอนแบบเดียวกันแต่องค์ประกอบและความบริสุทธิ์มีน้อยแบบโมโน เอามาต่อกันแบบไม่ตัดมุมจะทำให้เห็นเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าหลาย ๆ ช่องวางต่อกัน ถ้ามองกันตามสเป๊คที่บอกมาแผ่นโพลีถือว่ามีประสิทธิภาพด้อยกว่าเล็กน้อย แต่จะได้เปรียบตรงที่ราคาถูกกว่าและสามารถทำงานในอุณหภูมิสูงได้ดีกว่า ดังนั้นถ้าเอามาใช้งานในพื้นที่ ที่มีความร้อนมากการเลือกใช้งานแผ่นโพลีอาจจะได้ผลดีกว่าแบบโมโนก็ได้

Amorphous หรือ Thin Film

โซล่าเซลล์ฉบับเริ่มต้น

แบบสุดท้ายนี้เป็นแบบบางซึ่งจะแตกต่างจากสองแบบก่อนหน้านี้โดยสิ้นเชิง มีการใช้งานน้อยมากในตลาด ลักษณะจะเป็นแผ่นบาง ๆ งอได้ ราคาจะแพงและมีประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าได้น้อยที่สุดจึงไม่เป็นที่นิยมในการติดตั้งเพื่อใช้งานตามบ้านทั่วไป แผ่นแบบนี้เราจะเห็นใช้งานกันมานานแล้ว ยกตัวอย่างตามเครื่องคิดเลขที่ไม่ต้องใช้ถ่าน ถ้าสังเกตุดี ๆ จะเห็นแผงโซล่าเซลล์แบบนี้เป็นตัวให้พลังงานอยู่

ระบบพลังงานแสงอาทิตย์

ระบบออนกริด (On-Grid)

ระบบออนกริดจะเป็นระบบที่ไม่ต้องใช้แบตเตอรี่ในการทำงาน เพราะเป็นการเชื่อมต่อโซล่าเซลล์เข้ากับระบบของการไฟฟ้า เป็นการติดตั้งในสถานที่ที่ไฟฟ้าเข้าถึง แต่ใช้โซล่าเซลล์เสริมเพื่อลดค่าใช้จ่ายรายเดือนลง สำหรับตามบ้านที่ติดตั้งระบบนี้บางหลังที่ลงทะเบียนเอาไว้กับการไฟฟ้า จะสามารถส่งกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโซล่าเซลล์กลับเข้าไปในระบบของการไฟฟ้า เพื่อขายไฟกลับคืนให้การไฟฟ้าได้ด้วย ค่าติดตั้งอัพเดตในปี 2021 สำหรับระบบนี้รวมทุกอย่างแล้วก็ประมาณ 50,000 บาทต่อ 1 กิโลวัตต์

ระบบออฟกริด (Off-Grid)

ระบบออฟกริดจำเป็นต้องมีแบตเตอรี่ในการใช้งาน เพราะจะนำกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้เก็บลงในแบตเตอรี่ก่อนเพื่อใช้งานในช่วงกลางคืน สำหรับช่วงกลางวันก็จะเอากระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ส่งให้เครื่องใช้ไฟฟ้าใช้งานได้ตรงเลย ระบบนี้นิยมใช้งานในพื้นที่ห่างไกลที่ไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งก็จะสูงขึ้นอีกเพราะมีแบตเตอรี่เข้ามาเพิ่ม ระบบออฟกริดนี้จะต้องคำนวณให้เพียงพอต่อการใช้งานกับเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน แล้วแต่ว่าจะเผื่อเอาไว้อย่างไร บางที่ก็เผื่อไปว่าให้เพียงพอต่อการใช้งาน 2 วันเต็ม ๆ ในกรณีที่ฟ้าปิดไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้

ระบบไฮบริด (Hybrid)

ระบบสุดท้ายนี้ก็ไม่น่าจะเข้าใจยาก มันก็คือการนำสองระบบข้างต้นมาใช้งานร่วมกัน แต่ผู้ใช้งานอาจจะสับสนหน่อย ระหว่างออนกริด แต่ให้จำเอาไว้ง่าย ๆ เลยว่า ถ้ามีการรับไฟฟ้าจากหลายแหล่งผลิตให้ตีเป็นระบบไฮบริดไว้ก่อน เช่น มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม หรือ แก๊สชีวภาพด้วย เป็นต้น ในช่วงเวลากลางวันระบบจะใช้งานจากแหล่งกำเนิดไฟฟ้าก่อน ส่วนไฟฟ้าที่เหลือก็เก็บลงแบตเตอรี่เอาไว้ใช้งานในตอนกลางคืน ถ้ายังไม่เพียงพอก็จะดึงไฟฟ้าจากการไฟฟ้ามาใช้งานเพิ่มเติม สำหรับระบบไฮบริดจะยังเห็นไม่เยอะนักเพราะต้องลงทุนอุปกรณ์สูง มักจะเป็นผู้ให้บริการผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายที่ติดตั้งระบบนี้


เริ่มต้นง่าย ๆ สำหรับโซล่าเซลล์เอาไว้เท่านี้ก่อน ในโอกาสถัดไปจะค่อย ๆ แตกประเด็นในแต่ละหัวข้อออกมาให้ละเอียดมากกว่านี้ เพราะเรื่องโซล่าเซลล์ไม่สามารถเขียนให้จบได้ในบทความเดียว เพราะรายละเอียดแต่ละส่วนมีเยอะ ความยาวจะหลายหน้ามากจนเกินไป ^_^


ภาพประกอบ : freepik.com

Gawao
Gawaohttp://konderntang.com
มีความชอบและหลงไหลในเทคโนโลยีทางด้านไอที การลงทุน และเงินคริปโต .. นอกจากนี้แล้วมักใช้เวลาว่างไปกับการท่องเที่ยว ถ่ายรูป ไปค่ายอาสา ..

Read more

Local News