Tuesday, March 19, 2024

จับตาดูปี 2561 บิทคอยน์จะรุ่งต่อ หรือ แค่ฟองสบู่

Share

ปี 2560 ที่ผ่านพ้นไป ไม่เพียงแค่ “โซเชียลมีเดีย” หรือ “สื่อสังคมออนไลน์” เท่านั้นที่เปลี่ยนสังคมโลกและสังคมไทยอย่างรุนแรงแต่ในทางการเงินการลงทุนก็ยังมี “บิทคอยน์” ที่อาจพลิกโฉมระบบเงินตราและการเก็งกำไรบนโลกใบนี้

ตลอดปี 2560 มูลค่าของ “บิทคอยน์” ทะยานขึ้นถึง 20 เท่า แม้ในปีใหม่ 2561นักวิเคราะห์จะคาดการณ์ว่ากระแสร้อนแรงของ “บิทคอยน์” จะทรุดต่ำลงแต่ถึงนาทีนี้ก็ยังไม่มีอะไรที่แน่นอน

ดร.ปรีชา และ ดร.ธิติ สุวรรณทัต สองพ่อลูกที่เป็นนักกฎหมายการเงินการคลังและเป็นนักเศรษฐศาสตร์ ร่วมกันเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่อง “บิทคอยน์” และให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมกับ “ล่าความจริง” เอาไว้อย่างน่าสนใจ

สองนักวิชาการเริ่มต้นจากการอธิบายความเป็นมาของ“บิทคอยน์” โดยบอกว่า บิทคอยน์ (Bitcoin) เป็นรูปแบบเงินตราในระบบใหม่ เป็นเงินตราแบบ “ดิจิทัล” (Digital Currency/Crypto CurrencyCryptography) กำเนิดขึ้นในปี 2552 เป็นเงินดิจิทัลสกุลแรก โดยในระยะเริ่มแรก 1 บิทคอยน์มีมูลค่าเพียง 10 เซ็นต์ หรือประมาณ 3.2บาทเท่านั้น

แต่นับตั้งแต่ต้นปี 2560 ค่าของเงินบิทคอยน์ก็เริ่มทะยานพุ่งขึ้นเป็นประวัติการณ์ทุกๆ วัน โดยทำสถิติขึ้นไปสูงสุดที่ 19,891 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 บิทคอยน์!!! เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.2560 และตกลงไปกว่า 30% อยู่ที่ประมาณเกือบ 12,000 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ภายในเวลาไม่ถึงอาทิตย์หลังจากนั้นก็ดีดตัวกลับขึ้นมาใหม่อยู่ที่ประมาณ 15,000ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงวันคริสต์มาสที่ผ่านมา

เงินสกุลดิจิทัลลักษณะนี้ไม่มีสินทรัพย์ประเภททองคำทุนสำรองธนบัตร ทุนสำรองระหว่างประเทศหรือเงินสกุลหลักประเภทดอลลาร์สหรัฐ เงินยูโรหรือเงินปอนด์มาหนุนหลังเลย

มูลค่าของเงินดิจิทัลอย่าง “บิทคอยน์” อยู่ที่ความเชื่อมั่นในตัวมันล้วนๆเป็นความเชื่อมั่นในระหว่างกลุ่มผู้ใช้เงินสกุลดิจิทัลทั่วโลกไม่ได้ถูกควบคุมหรือกำกับดูแลโดยธนาคารกลางในแต่ละประเทศและก็ไม่ได้อยู่ในระเบียบของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF

มิ.ย.2557 นายเจอร์รี บราวน์ ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนียร์ สหรัฐอเมริกาได้ลงนามในกฎหมายของมลรัฐแคลิฟอร์เนีย (CaliforniaAssembly Bill 129 หรือ AB- 129)อนุญาตให้ใช้เงินตราดิจิทัล เช่น เงินดิจิทัลบิทคอยน์แทนเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายในรัฐแคลิฟอร์เนียที่ถือได้ว่าเป็นมลรัฐแรกในสหรัฐที่มีกฎหมายรับรองเป็นทางการเช่นนี้

นักวิชาการสองพ่อลูก ระบุว่า ความบ้าคลั่งและร้อนแรงของเงินบิทคอยน์ในช่วงเทศกาลเวลานี้ ทำให้เกิดกระแสวิจารณ์และหวาดหวั่นเรื่อง“ฟองสบู่แตก” ซึ่งหากย้อนอ่านหนังสือเรื่อง ManiasPanics and Crashes: A History of Finance Crisesของ Charles P.Kindleberger (1910-2003)อดีตศาสตราจารย์แห่งภาควิชาเศรษฐศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ CPK จะพบว่าได้ศึกษาถึงที่มาและการก่อตัวของปัญหาอันนำไปสู่การเกิดเหตุการณ์ฟองสบู่ทางการเงิน (Financial Bubble)

ซึ่งหมายถึงสภาวการณ์ที่สินทรัพย์มีมูลค่าสูงเกินกว่าพื้นฐานความเป็นจริงของมัน ตั้งแต่ปี ค.ศ.1636 จนถึงปี 2000 รวมทั้งสิ้น 10 เหตุการณ์เช่น ฟองสบู่จากการเก็งกำไรในหัวดอกทิวลิปที่เนเธอร์แลนด์ ปี ค.ศ.1636ฟองสบู่จากการเก็งกำไรราคาหุ้นของบริษัท South Seaที่อังกฤษ ในปี ค.ศ.1720 ฟองสบู่ที่ตลาดหุ้นนิวยอร์ก ปีค.ศ.1927-1929

จนนำไปสู่การเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกในทศวรรษ 1930 ฟองสบู่จากการเก็งกำไรในตลาดหุ้นและตลาดอสังหาริมทรัพย์ ที่ญี่ปุ่น ระหว่างปี 1985-1989ฟองสบู่จากการเก็งกำไรในตลาดหุ้นและตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซียและอีกหลายประเทศในเอเชีย ระหว่างปี 1992-1997 เหล่านี้เป็นต้น

สองนักวิชาการสรุปว่า ฉะนั้นวันนี้ “บิทคอยน์” จะเป็น “ฟองสบู่” หรือ “เงินตรา” ที่แท้จริงในอนาคตยังคงเป็นประเด็นถกเถียงในกลุ่มผู้ที่สนใจและเกี่ยวข้องในเรื่องเงินตราดิจิทัล แต่มีสุภาษิตของชาวดัตช์ต้นตำรับฟองสบู่ดอกทิวลิปที่เป็นรากเหง้าการเกิดฟองสบู่ครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเงินของโลก ให้ข้อคิดเป็นบทเรียนที่สำคัญไว้ว่า “การเรียนรู้อดีตเพื่อเข้าใจปัจจุบันจะเป็นประโยชน์ต่อการเตรียมตัวสำหรับอนาคตที่ดียิ่ง”


ต้นฉบับบทความ : กรุงเทพธุรกิจ

กาเหว่า
กาเหว่าhttp://konderntang.com
มีความชอบและหลงไหลในเทคโนโลยีทางด้านไอที การลงทุน และเงินคริปโต .. นอกจากนี้แล้วมักใช้เวลาว่างไปกับการท่องเที่ยว ถ่ายรูป ไปค่ายอาสา ..

Read more

Local News